กศน.จังหวัดชลบุรี

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รู้จักจังหวัดชลบุรี


รู้จักจังหวัดชลบุรี




จังหวัดชลบุรี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันสั้นๆว่า เมืองชล เป็นจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลภาคตะวันออกที่มีชื่อเสียงมาช้านาน อีกทั้งมีชุมชนอยู่อาศัยย้อนไปได้ถึงยุคทวารวดี กลายเป็นแหล่งสั่งสมอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน และอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ สำหรับคนทั่วไปแล้ว ชลบุรีอาจเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองตากอากาศชายทะเลที่ใกล้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะหาดบางแสนและพัทยา ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างก็เดินทางเข้ามาสัมผัสความสวยสดงดงามของชายทะเลตะวันออกอันมีมนต์เสน่ห์แห่งนี้ ปีละหลายล้านคน





การที่ชลบุรีตั้งอยู่ติดทะเล และมีชายฝั่งทอดยาวถึง 160 กิโลเมตร ส่งผลให้มีอากาศเย็นสบายตลอดปี ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศไม่ถึงกับแห้งแล้งมากนัก เพราะยังมีฝนตกอย่างชุ่มฉ่ำภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนในของจังหวัด ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบลอนลูกคลื่นสลับกันไป มักจะมีฝนตกชุกกว่าชายฝั่งทะเล ในครั้งอดีตแถบชายทะเลเมืองชลบุรีได้รับการยอมรับว่ามีอากาศดีมาก จนสามารถใช้เป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยและที่ตากอากาศของพระมหากษัตริย์ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ ดังปรากฏหมู่พระราชฐานอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่บนเกาะสีชัง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้ง ณ ชายฝั่งทะเลซึ่งมีคลื่นลมไม่แรงจัดตลอดปี ทำให้ชลบุรีกลายเป็นเมืองท่าสำคัญมาแต่ครั้ง โบราณกาล มีชาวจีนล่องเรือสำเภาขนาดใหญ่เข้ามาค้าขายและอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏว่ายังคงมีลูกหลานชาวจีนอาศัยสืบต่อและประกอบสัมมาอาชีพอยู่ทั่วไปในชลบุรีแม้ทุกวันนี้ มีบันทึกของชาวเรือในอดีตกล่าวว่า เกาะสีชังเป็นจุดที่เรือสำเภาจีนมักใช้จอดพักเรือก่อนเดินทางเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือก่อนเดินทางออกสู่มหาสมุทร จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีเรือสินค้าและเรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้ามาจอดลอยลำในบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอ ไม่เคยเปลี่ยน

ปัจจุบันชลบุรีมีประชากรประมาณ 2
,371,824 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้โยกย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อพูดถึงผู้คนพื้นถิ่นจริงๆของชลบุรีแล้ว จะพบว่าคนชลบุรีมีอาชีพผูกพันอยู่กับท้องทะเล นาไร่ ทำปศุสัตว์ และทำเหมืองแร่ โดยลักษณะนิสัยของคนเมืองชลดั้งเดิมได้ชื่อว่าเป็นคนจริง ใช้ชีวิตเรียบง่าย ประหยัดอดออม เอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้ มีความเป็นมิตร และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ แม้ทุกวันนี้สภาพบ้านเมืองของชลบุรีจะเจริญรุดหน้าไปมาก อีกทั้งมีผู้คนต่างถิ่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยผสมกลมกลืนกับชนดั้งเดิม ทว่าคนเมืองชลก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงามของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น สะท้อนออกมาในรูปแบบงานเทศกาลประจำปีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญกลางบ้านและงานเครื่องจักสานพนัสนิคม งานประเพณีวันไหล (งานก่อพระทรายวันไหล) ในช่วงหลังวันสงกรานต์ งานประเพณีกองข้าวอำเภอศรีราชา งานประเพณีวิ่งควายอันคึกคักสนุกสนาน รวมถึงงานแห่พระพุทธสิหิงค์และงานกาชาดชลบุรี เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงให้ประจักษ์ถึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นของคนชลบุรีได้อย่างชัดเจน

คนเมืองชลในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนับถือศานาคริสต์ อิสลาม และอื่นๆ โดยผสมผสานความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ในศาสนาที่ตนนับถือด้วย เช่น เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ผู้คนที่ศรัทธาก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ แล้วเดินทางไปร่วมสวดมนต์บำเพ็ญทานยังโรงเจต่างๆทั่วจังหวัดชลบุรี หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนเมืองชลมักเดินทางไปที่เขาสามมุข เพื่อสักการะและขอพรจากเจ้าแม่สามมุข บริเวณเขาสามมุขซึ่งไม่ห่างจากหาดบางแสนและอ่างศิลา สองตัวอย่างนี้คือความเชื่อของชาวจีนที่ผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกับความศรัทธาท้องถิ่น จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้


ชลบุรีเป็นย่านชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก คนจีนในชลบุรีส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งเชี่ยวชาญการค้าและมีบทบาทสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ ประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2-3) อยู่แถบชายทะเลเมืองบางปลาสร้อย ทำการค้าและประมงอย่างกว้างขวางจนมีเหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้นำอ้อยเข้ามาปลูก และริเริ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแถบอำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง และอำเภอพนัสนิคม ส่วนคนจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 มักทำอาชีพปลูกผักและเลี้ยงเป็ดอยู่ในบริเวณเดียวกัน สำหรับชนชาวลาวนั้นอพยพเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 3 มีอาชีพทำไร่ ทำนา และมีความสามารถพิเศษในการทำหัตถกรรมจักสาน ส่วนชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันมีอาชีพทำสวนผลไม้ ไร่มันสำปะหลัง และค้าขายในตลาด เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในประเพณีและศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

(^_^) Thx.